All Log
All 
Thinking
Thinking

One Ton

4.9.2022

one ton

by aor sutthiprapha and pim sudhikam 

at artists+run

October 10 to November 9, 2019



reflective writing


ครั้งแรกที่ได้คุยกับอังกฤษ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

ตอนนั้นเหมือนว่าอ้อได้เริ่มคุยกับอังกฤษไปก่อนหน้าแล้วบางส่วน 

ข้อมูลที่ได้รับวันที่คุยกันก็คือ “ผมไม่อยากแสดงงานของอ้อและอ.พิมในแบบที่ปกติแล้วคนจดจำได้ หรือคาดหวัง” 


ในใจคิดว่า “อืมม…. ถ้าไม่ได้ให้ทำสิ่งที่ปกติทำอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะทำอะไรเหมือนกัน” เพราะว่าทุกคนรอบตัวก็เคยบอกเราประมาณว่า หน้าอย่างแกถ้าเอาเซรามิกออกไปก็ไม่เหลืออะไร หรือหน้าอย่างแกจะทำอะไรได้ถ้าไม่ใช่ทำเซรามิก อะไรประมาณนั้น ซึ่งนั่นเป็นข้อเท็จจริงที่จิตใจยอมรับและเข้าใจอยู่แล้ว ทั้งยังมองว่านี่ช่างงดงามจริงๆ นี่ต้องเป็นคำชมอย่างแน่แท้ 


“ดังนั้นเราไม่ทำงานนี้ดีกว่า … เชี่ยเอ๊ย” คิดในใจ 


“บลาบลาบลา” อ้อพูดถึงแนวคิดต่างๆ อังกฤษออกความเห็นต่างๆ ไม่ได้ฟังเลย มันช่างไม่น่าสนใจ นี่เราอายุจะห้าสิบแล้ว แต่ก็ยังมีนิสัยไม่ดีแบบนี้ อะไรที่ไม่สนใจก็ไม่สามารถจะทำเป็นสนใจ อะไรที่ไม่สนใจก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่สามารถกักเก็บมันไว้ในสมองได้เลย 


อ้าว.. มีคำถามยิงมาแล้ว เอ๊ะ ถามว่าอะไรนะคะ… ใครสักคนพูดคำว่า “เวลา” ขึ้นมา… อืมมมม … ไอ้ความผิดพลาดแบบนี้ข้าทำมาแล้วเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อยังอ่อนกากมากๆ โง่เขลาพอที่จะเลือกพูดถึงเรื่อง “เวลา” เรื่องที่แสนจะนามธรรมจับต้องได้ยาก อธิบายได้ยาก มิใยจะทำออกมาเป็นงานเซรามิก คนที่เลือกพูดถึงสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจได้อย่างมั่นใจเบอร์นั้น ไอ้คนนั้นมันคือคนเขลา หรือคนเยาว์ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน (ข้าพเจ้าเอง)​ 


แน่นอนว่า ความเขลาและความเยาว์ ย่อมมีประโยชน์​ของมันเอง กล่าวคือมันอนุญาต​ให้​เราทำในสิ่งที่ถ้าเราคิดมากไปเราจะไม่กล้า​ทำ ดังนั้น​ยี่สิบกว่าปีที่แล้วตอนทำวิทยานิพนธ์​ปริญญาโท​จึงเลือกทำงานแบบนั้นลงไป ทำชิ้นงานดินเพื่อเป็นหลักฐานของเวลา หรืออธิบายเกี่ยวกับเวลา โดยอาศัยการไม่เผา จัดวางพาดผ่านพื้นที่หนึ่งในรูปขดเกลียว อันเป็นรูปทรงที่อธิบายเวลาแบบ cyclical time 


ขดเกลียว ลวดสปริง สิ่งนี้วนเวียนมาในงานโดยไม่รู้ตัว ผ่านจิตใต้สำนึกรึไงนะ



หลายปีผ่านไป…. 

ถามว่าอะไรนะคะ? 

เอ้า… อยากจะพูดถึงเวลาผ่านทางงานเซรามิกอีกแล้วเหรอ (ช่างไม่หลาบจำ)​ 








ดังนั้นสรุปว่าทำ One Ton

เอาดินหนึ่งตันมากองไว้ในแกลลอรี่​

ห้องเปล่าๆ ขาวๆแบบ white cube

กำหนดเวลาไว้หนึ่ง​เดือน

ลงมือทำชิ้นงานดินไปเรื่อยๆ เหมือนว่าอยู่ในสตูดิโอ​นั่นแหละ 


สิ่งที่เหมือนกับปกติก็คือ กระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผา คือเตรียมดิน นวดดิน ขึ้นรูป รอแห้ง 

สิ่งที่ต่างกับปกติก็คือ 

1 กระบวนการดังกล่าว ปกติแล้วจะทำให้เสร็จไปก่อนได้งานมาแสดงในแกลอรี่ ดังนั้นเวลาจึงเปลี่ยนเลื่อนไหลไป 

2 กระบวนการดังกล่าว ปกติแล้วจะทำในสตูดิโอเป็นการส่วนตัว แต่ในงานนี้นำมาทำในที่สาธารณะ ดังนั้นสเปซจึงเปลี่ยนเลื่อนไหลไป 


ทั้งนี้ ต้องตั้งสติให้มั่นว่า กระบวนการในฐานะช่างหม้อต้องยึดไว้อย่างซื่อสัตย์ ทำงานในที่แจ้งราวกับการทำงานในที่มืด และแม้จะทราบว่าดินทั้งหมดจะไม่ได้รับการเผา แต่ถึงกระนั้นก็ต้องทำชิ้นงานให้มีคุณภาพพร้อมสรรพและดีงาม เต็มไปด้วยความตั้งใจไม่ใช่เพียงใช้ดินให้หมดๆไป … แต่ก็ต้องใช้ดินให้หมดไปให้ได้ด้วย แปลว่าจะขี้เกียจไม่ได้ 



หลังจากพูดคุยเสร็จก็เว้นว่างห่างหายกันไป เพราะยังไม่ใกล้จะถึงเวลาแสดงงาน

แถมงานนี้เป็นงานที่ไม่ต้องทำก่อนแสดงอีกด้วยซ้ำ ยิ่งแทบจะไม่มีอะไรให้เตรียมตัว


จะว่าไม่มีอะไรให้เตรียมตัวก็อาจจะพูดเกินเลยไป 

ถึงอย่างไรก็ตามก็ควรจะคิดไว้สักหน่อยว่า เมื่อเริ่มกระบวนการแล้วจะทำชิ้นงานแบบไหน

จะทำยังไงให้ใช้ดินตั้งหนึ่งตัน มันไม่ใช่น้อยๆ แล้วต้องผ่านนิ้วมือของคนเพียงสองคน

ก็แค่ยี่สิบนิ้วเท่านั้นเอง 


ยี่สิบนิ้วมือเท่านั้นเอง ต้องกดบีบกระจายดินจากกองหนึ่ง ให้กลายเป็นรูปทรงของเครื่องปั้นดินเผา 

เป็นวัตถุสามมิติที่ภายในมีความกลวง มีความหนาไม่มากเกินไป เพราะว่าเมื่อเผาอาจแตก เพราะว่าน้ำหนักจะมากเกินไป เพราะว่ามันเปลืองวัตถุดิบ เพราะว่ามันสะท้อนความไร้ฝีมือ 

ดินหนึ่งตันนี้จะต้องผ่านปลายนิ้วมือเพียงยี่สิบนิ้วในเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้นเอง 




แต่แล้ว เดือนแล้วเดือนเล่าก็ผ่านไป ไปปั่นจักรยานและอะไรต่อมิอะไร 

นานๆคิดถึงเรื่อง one ton สักที สิ่งที่คิดวนเวียนมักจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้คนที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานกับดิน คือเหตุการณ์ที่ดินพาไปพบกับคนนั้นคนนี้ที่ต่างอยู่ห่างไกลกัน เหมือนจะไม่เกี่ยวกันแต่ถูกนำมาเกี่ยวข้องกันอย่างแปลกประหลาด คิดว่าน่าจะพูดถึงเรื่องนี้ในงานวันตัน จะดีไหมนะ…. 



 



white cube

gallery space

polish works 

complete - incomplete 

idea- no idea

physical interaction 


เมื่อวันไปขนดิน พบว่าดินค่อนข้าง​แข็ง นำมาปั้นเลยไม่ได้ เป็นเหตุให้ต้องเอา pugmill มาที่แกลอรี่ด้วย





จริงๆแล้วชอบ pugmill มากๆมานานแล้ว เป็นเครื่องจักรที่เคยชอบมาตลอดไม่ว่าจะเป็นตัวนี้หรือ walker pugmill ที่อยู่ที่ไอดี ชอบมาตั้งแต่เป็นนิสิตแล้ว ชอบการบดนวดดิน เตรียมดินด้วย pugmill ชอบการใช้งานจนเข้าใจระบบของมันเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด ชอบความรู้สึกของการนำดินที่มีความอ่อนแข็งไม่พอเหมาะใส่เข้าไป ปรับสภาพโดยการเติมสิ่งต่างๆ แล้วรีดออกมาเป็นดินที่มีสภาพพอเหมาะกับการใช้งาน มันช่างฟินจริงๆ งานการเตรียมดินเป็นงานที่คนโดยมากไม่ชอบ ดังนั้นในชั้นเรียนจะไม่มีใครมาแย่งเราทำหน้าที่นี้ เรามักจะรีดดินจำนวนมากใส่ถังไว้เพื่อคนอื่นๆจะมาใช้ได้ด้วย หลายปีผ่านไปแม้เมื่อมาเป็นอาจารย์แล้ว การรีดดินยังคงเป็นกิจกรรมที่แย่งคนอื่นทำเสมอๆ เวลาเห็นใครใช้ pugmill มักจะรู้สึกว่าเค้าทำได้ไม่ดีเท่าเราเอง ไม่มีประสิทธิภาพและไม่สง่างาม จึงมักไปแย่งมาทำเอง เครื่อง walker ที่อยู่ที่ไอดีนั้นก็ใช้งานมันจนเข้าใจจังหวะจะโคน ตำแหน่งการใส่ดิน ปริมาณ การใช้เหล็กโป๊วร่วมด้วยเพื่อช่วยในการไล่ดิน การแกะล้าง และอื่นๆ 


เมื่อมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง อุปกรณ์ที่ลงทุนสูงที่สุดชิ้นหนึ่งในสตูดิโอก็คือ pugmill นั่นเอง และเนื่องจากโดยนิสัยแล้วจะซื้อของที่แพงที่สุด ดีที่สุดตามความปักใจของตัวเอง จึงรอคอยจนถึงวันที่สามารถซื้อ Shimpo NRA-04 ตัวนี้ได้ (มีเงินพอ และมีคนนำเข้ามาขายในไทย) เหตุที่ต้องรอคอย NRA-04 เนื่องจากว่า แม้ว่าจะชอบ pugmill มากๆ แต่ว่าpugmill จำนวนมากที่ขายในไทยมีระบบ de-airing ร่วมด้วย มีปั๊มลมร่วมด้วยเพื่อการดูดอากาศ และส่วนตัวเกลียดปั๊มลมเพราะมีเสียงดัง รวมทั้งมันมักจะทำให้เครื่องมีขนาดใหญ่เทอะทะ… เกลียดจริงๆเครื่องจักรที่เทอะทะ … เครื่องจักรควรมีขนาดงดงามพอเหมาะพอดีตามความจำเป็น เครื่องจักรควรจะกระทัดรัดที่สุดเท่าที่ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งถ้ามันทำงานอย่างเงียบๆได้ด้วย มันจึงควรค่าที่ผู้คนจะหลงรักมัน 


ห้าปีแล้วที่ครอบครอง NRA-04 ดีใจทุกครั้งที่เดินผ่านมันในสตูดิโอ ดีใจทุกครั้งที่ใช้งาน และเช่นเดียวกับ walker เราก็ได้ใช้ NRA-04 จนช่ำชอง การรีดดิน การแกะล้าง การปรับสภาพดิน จังหวะจะโคนในการรีดให้มีประสิทธิภาพและมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่พอดีๆไม่เกินจำเป็น วงจรการหมุนเวียนดินมาใช้ให้สอดคล้องกับการทำงานในสตูดิโอ สิ่งต่างๆเหล่านี้ถูกเรียนรู้จดจำและสังเกตสังกาแม้จุดเล็กจุดน้อย จุดแตกต่างเพียงเล็กน้อย (marginal) ส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานในเวลาต่อมา ซึ่งแม้แต่ตัวเองก็ไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน……. 




วันที่หนึ่ง


วันที่หนึ่งของการทำงาน เรียงดินเป็นกองอย่างสวยงามบนพาเลทไม้ เอาถุงด้านนอกออก เพราะว่ามันมีสีและลวดลายมากเกินไป ทำความสะอาด pugmill โดยแกะล้างถึงภายใน เมื่อเสร็จแล้วจึงพบความพึงพอใจอย่างสูง แช่เบียร์ในตู้เย็น เอาดินมารีดผสมน้ำเพื่อให้นุ่มนิ่มพอเหมาะแล้วใส่ไว้ในถุงสองชั้น 


วันที่สอง 


เริ่มทำงานชิ้นงานชิ้นแรก รีดดินออกมายาวเป็นพิเศษ 

จำไม่ได้ว่าจะทำอะไรแต่มันต้องมีเหตุผลแน่ๆ 

เพราะว่าตั้งใจมากตั้งแต่เตรียมแผ่นไม้กระดานและวิธีวางเพื่อรับดิน 

ยกมาที่โต๊ะ กรีดเพื่อแบ่งดินเป็นสองส่วน …. แต่ ณ จุดนี้ …. ไม่ทราบว่าทำไม

ทำไมจึงกรีดลึกเพียงแค่ที่กรีด (ไม่ได้ลึกมาก) 

ทำไมจึงฉีกแบะหลังกรีด 

ถ้าเพียงต้องการแบ่งดินเป็นสองส่วนทำไมจึงเริ่มด้วยกริยาแบบนั้น

…….ไม่รู้….


สิ่งเดียวที่รู้คือรู้ว่าตัวเองทำงานโดย “ฟัง” วัสดุเสมอ ทำงานอย่างเชื่องช้าเพราะว่ามีช่องว่างเพื่อการฟังก่อนการเคลื่อนที่ต่อไป 


ทันใดนั้นที่เริ่มแบะดิน สิ่งน่าสนใจก็เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเห็นในก้อนดินมาก่อน … นี่เราฉีกดินมากี่ครั้งในชีวิตแล้ว … น่าจะนับไม่ถ้วน ...​ไหนฉีกอีกหน่อยซิ….เฮ้ย...นี่มันอะไรกันเนี่ย…. สิ่งนี้ไม่เคยเห็นมาก่อนแต่มันน่าสนใจมาก แล้วเราจะเก็บสิ่งที่เกิดขึ้นในดินนี้ไว้ในชิ้นงานได้ยังไง อันนั้นคงต้องอาศัยพลังที่สะสมมา คนเราจะวัดกันได้ก็ตรงนี้แหละนะ 

  1. จะหาสิ่งต่างๆพบได้อย่างไร
  2. จะนำสิ่งที่พบนั้นไปใช้ให้เป็นของตนเองได้อย่างไร





วันที่สาม ถึงวันที่ ยี่สิบ… ทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ เตรียมดิน รีดดิน ทำชิ้นงานนั่นนี่ ทำงานชิ้นใหญ่เป็นเสากลวงที่เกิดจากการฉีกดินแล้วต่อกันขึ้นไปแบบดินเส้น เก็บงานเฉพาะภายในเพื่อไม่ให้รบกวนผิวภายนอก ทำแบบนี้เพื่อให้ใช้ดินได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ แต่ก็ต้องต่อให้ดีเพราะว่าไม่งั้นจะถล่มได้ ใช้ดินไปร้อยกว่ากิโล 


หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ต้อนรับผู้คน ทำงานด้วยกัน ให้คนที่มาเยี่ยมทำงาน แลกเปลี่ยนความคิด เล่าเรื่องเทคนิคเซรามิก ถกเถียงกันเรื่องงานศิลปะ ดื่มเบียร์ สอนนักเรียน ต่อชั้นขึ้นผนังไปเรื่อยๆ และงานก็วางเต็มไปตามผนังเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งวันสุดท้ายของโชว์ 



วันสุดท้ายก็เอาดินทั้งหมดที่ขึ้นรูปแล้วมากองรวมกันใหม่ที่บนพาเลทไม้ตรงกลางแกลอรี่ เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ในโอกาสต่อไป

What’s a Rich Text element?

What’s a Rich Text element?

What’s a Rich Text element?

What’s a Rich Text element?

What’s a Rich Text element?
What’s a Rich Text element?

The rich text element allows you to create and format headings, paragraphs, blockquotes, images, and video all in one place instead of having to add and format them individually. Just double-click and easily create content.

Static and dynamic content editing

A rich text element can be used with static or dynamic content. For static content, just drop it into any page and begin editing. For dynamic content, add a rich text field to any collection and then connect a rich text element to that field in the settings panel. Voila!

How to customize formatting for each rich text

Headings, paragraphs, blockquotes, figures, images, and figure captions can all be styled after a class is added to the rich text element using the "When inside of" nested selector system.

This is a caption text.